วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554

การขยายความคุ้มครองกรณีเจ็บป่วยและประสบอันตรายตามกฎหมายประกันสังคมให้แก่สมาชิกในครอบครัวของผู้ประกันตน

ผู้คนที่อยู่ในวัยทำงาน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในฐานะลูกจ้างที่มีรายได้ต่อเดือนอันจำกัดนั้น ย่อมต้องการที่จะมีความมั่นคงในการดำรงชีวิต แต่ที่มากไปกว่านั้นก็คือ ความต้องการที่จะให้บุคคลที่อยู่ในครอบครัวเดียวกับเขา ได้มีความมั่นคงในการดำรงชีวิตเช่นเดียวกับเขาด้วย
จากความต้องการดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องจากบรรดาลูกจ้างในสังคมไทย ทำให้ภาครัฐได้ตระหนักถึงความสำคัญและได้ออกกฎหมายขึ้นมาฉบับหนึ่งในปี พ.ศ.  2533 คือ พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.. 2533 และต่อมาก็มีการแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2  ในปี พ..2537 และฉบับที่  3 และในปี พ.ศ. 2542  กฎหมายประกันสังคมฉบับนี้ เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการสร้างหลักประกันและความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้แก่ลูกจ้าง  ผู้สมัครเข้าประกันตน รัฐบาล และนายจ้าง  ได้เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข  ร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการออมและเสียสละเพื่อส่วนรวม มีหลักการสำคัญที่มุ่งให้ประชาชนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  ช่วยเหลือตัวเองและครอบครัว ในยามที่ไม่สามารถทำงานได้โดยไม่เป็นภาระให้แก่ผู้อื่นและสังคม   การประกันสังคมจึงเป็นมาตรการหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดความมั่นคงในชีวิต โดยมีการจัดตั้งกองทุนประกันสังคมขึ้น เพื่อให้ความคุ้มครองผู้ประกันตน กรณี  โดยไม่คำนึงถึงว่าลูกจ้างจะเจ็บป่วย ประสบอันตราย หรือเสียชีวิตเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง  การคุ้มครอง ทั้ง 7 กรณี คือ
(1) ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
                                                (2) ประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร
                                                (3) ประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพ
                                                (4) ประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย
                                                (5) ประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร
                                                (6) ประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
                                                (7) ประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน
โดยทั้ง 7 กรณีนี้ได้มีการบังคับใช้ครบทุกข้อแล้ว โดยลูกจ้างต้องส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมทั้ง 7 กรณีตามอัตราส่วนที่ภาครัฐกำหนด
แต่เนื่องจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ลูกจ้างผู้ประกันตนนั้นมิได้ต้องการที่จะมีความมั่นคงลำพังเพียงคนเดียวเท่านั้น  หากแต่เขายังต้องการที่จะให้คนในครอบครัวของเขาอันได้แก่ บิดา มารดา ภรรยา และบุตรอันชอบด้วยกฎหมายของเขา ได้รับความมั่นคงในการดำรงชีวิตโดยเฉพาะในด้านสุขภาพร่างกายเช่นเดียวกับเขาด้วย  โดยกรณีที่ควรจะขยายการคุ้มครองแก่คนในครอบครัวของลูกจ้างมากที่สุด และมีความเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ สิทธิประโยชน์ในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย  เพราะการเจ็บป่วยของคนในครอบครัวนั้น ตามความเป็นจริง  ลูกจ้างจะต้องร่วมรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลด้วยอยู่แล้ว ส่วนนโยบายรัฐบาลเรื่องโครงการหลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น แม้จะมีข้อดีมากมาย ก็มีข้อเสียหลายประการเช่น สามารถเข้ารับการรักษาได้เฉพาะโรงพยาบาลที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ไม่สามารถที่จะเข้าการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้ หรืออีกประการเช่น การทำงานของแพทย์ พยาบาลตามโครงการนี้ ก็ทำงานหนักมากเกินไป ทำให้บางครั้งความสามารถในการดูแลรักษาคนไข้ก็เป็นไปอย่างมีข้อจำกัด เช่นการผ่าตัดเพื่อรักษาโรค ต้องต่อคิวเป็นเวลานาน  ดังนั้น เพื่อสนองความต้องการพื้นฐานนี้ ภาครัฐควรที่จะขยายหลักการของกฎหมายประกันสังคมกรณีดังกล่าวนี้  เพื่อให้ครอบคลุมถึงบิดา มารดา ภรรยา และบุตรอันชอบด้วยกฎหมายของลูกจ้างด้วย ดังเช่นสิทธิที่ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจได้รับ  
การขยายความคุ้มครองกรณีเจ็บป่วยและประสบอันตรายตามกฎหมายประกันสังคม ให้แก่สมาชิกในครอบครัวของผู้ประกันตนนั้น ภาครัฐอาจทำได้โดยการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย  เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกจ้างที่ต้องการให้กฎหมายประกันสังคมคุ้มครองครอบครัวของตน ได้ร่วมจ่ายเงินประกันสังคมในส่วนนี้ด้วยความสมัครใจ  ซึ่งอาจจะกำหนดให้ลูกจ้างจ่ายเงินประกันสังคมเพิ่มจากปกติอีกร้อยละ 50 ของเงินที่ต้องส่งให้กองทุนประกันสังคม เฉพาะในกรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย  และคูณด้วยจำนวนคนที่ลูกจ้างต้องการให้คุ้มครอง และกำหนดสิทธิประโยชน์เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายเช่นเดียวกับลูกจ้างทุกประการ เพื่อให้กฎหมายประกันสังคมได้สร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตของลูกจ้างทุกคนอย่างแท้จริงต่อไป

*****************************************************
โดย วิไลพรรณ เจสะวะ (เผยพร่ในวารสารรพีรำลึกของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี ประจำปี 2548)

วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2554

การให้สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแก่ผู้ใช้แรงงานที่เป็นผู้รับจ้างด้านการให้บริการบันเทิง

            ด้วยเหตุผลและหลักการที่ว่ารัฐมีหน้าที่ต้องจัดให้ประชาชนทุกคนในประเทศได้รับสวัสดิการ ความคุ้มครอง ความช่วยเหลือ  และการบริการต่าง ๆ ทางสังคมในทุกด้านอย่างเหมาะสมทั่วถึงและเป็นธรรม  เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุขตามอัตตภาพ ดังนั้น แนวคิดเกี่ยวกับการให้สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแก่ผู้ใช้แรงงานที่เป็นผู้รับจ้างด้านการให้บริการบันเทิง ซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่ได้รับสวัสดิการและการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานจากรัฐเท่าเทียมกับผู้ใช้แรงงานที่เป็นลูกจ้าง จึงเป็นเรื่องที่ควรต้องนำมาศึกษาและทำวิจัย เพื่อสร้างความเป็นธรรมและพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป
                 การประกอบธุรกิจด้านสถานบันเทิงนั้น แม้ว่าจะมิได้เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของผู้คนในสังคม และมิได้เป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศด้านใด แต่การประกอบธุรกิจด้านสถานบันเทิงก็มีส่วนทำให้ผู้คนในสังคมได้มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นที่นัดพบเพื่อพูดคุยเรื่องงานและเรื่องทั่วไปภายหลังจากทำภารกิจการงานมาแล้วทั้งวัน
เมื่อมีสถานบันเทิง ย่อมมีการจ้างผู้ใช้แรงงานเกิดขึ้น กล่าวคือ  ในสถานประกอบกิจการหนึ่งจะมีผู้เกี่ยวข้องอยู่สองฝ่ายได้แก่ฝ่ายผู้ประกอบกิจการ ซึ่งประกอบไปด้วยนายจ้าง ผู้แทนนายจ้าง หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนฝ่ายหนึ่ง และผู้ใช้แรงงาน ซึ่งประกอบไปด้วยพ่อครัว พนักงานเสริฟอาหาร พนักงานทั่วไป  นักร้อง นักดนตรี นักแสดง และนักเต้นอีกฝ่ายหนึ่ง
ความสัมพันธ์ของคนทั้งสองฝ่ายนี้ ต่างก็มีความสัมพันธ์ทางกฎหมายที่ต่างกัน ซึ่งอาจจำแนกออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มที่หนึ่ง ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายผู้ประกอบกิจการกับฝ่ายที่เป็นผู้ใช้แรงงานที่เป็นพ่อครัว พนักงานเสริฟอาหาร และพนักงานทั่วไป  ซึ่งโดยบริบทของกฎหมายแล้ว ฝ่ายผู้ประกอบกิจการจะเป็นนายจ้างและฝ่ายผู้ใช้แรงงานจะเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ส่วนกลุ่มที่สอง ได้แก่  ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายผู้ประกอบกิจการกับฝ่ายที่เป็นผู้ใช้แรงงานที่เป็นนักร้อง นักดนตรี นักแสดง และนักเต้น ซึ่งโดยบริบทของกฎหมายแล้ว ฝ่ายผู้ประกอบกิจการจะเป็นผู้ว่าจ้าง และฝ่ายผู้ใช้แรงงานจะเป็นรับจ้างตามสัญญาจ้างทำของ แม้ว่าโดยบริบทของกฎหมายและนิติสัมพันธ์ของผู้ประกอบกิจการกับผู้ใช้แรงงานทั้งสองกลุ่มจะต่างกัน แต่ลักษณะการทำงานของผู้ใช้แรงงานทั้งสองกลุ่มนั้นคล้ายคลึงกันมาก  ทั้งการปฏิบัติงาน และช่วงเวลาทำงาน อีกทั้งต้องทำงานตามที่เจ้าของสถานบันเทิงในฐานะผู้ประกอบการต้องการเหมือนกัน
ปัจจุบันผู้ใช้แรงงานในกลุ่มที่สอง อันได้แก่ นักร้อง นักดนตรี นักแสดง และนักเต้นตามสถานบันเทิงนั้นมีเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศได้เติบโตขึ้นตามลำดับ และส่วนใหญ่พวกเขาเหล่านั้นต่างก็มีนิติสัมพันธ์กับเจ้าของสถานบันเทิงตามสัญญาจ้างทำของ ทั้งนี้เพราะลักษณะงานที่ทำนั้นส่วนใหญ่เป็นงานที่ต้องใช้ความสามารถพิเศษเฉพาะตัว แต่ก็มีบางส่วนใช้ความสามารถธรรมดาและมีข้อตกลงให้ปฏิบัติงานเป็นประจำในช่วงเวลาเดียวกับผู้ใช้แรงงานกลุ่มที่หนึ่ง ถึงแม้ว่าจะมีเจ้าของสถานบันเทิงหลายคนที่ต้องการจ้างพวกเขาไปแสดง  แต่สภาพการทำงานและช่วงเวลาทำงาน ไม่อาจทำให้แบ่งเวลาไปทำงานในหลายสถานบันเทิงได้ ดังนั้น บรรดานักร้อง นักดนตรี นักแสดง และนักเต้นตามสถานบันเทิงจึงอาจทำงานคล้ายกับลูกจ้างประจำของเจ้าของสถานบันเทิงเพียงแห่งเดียวก็ได้
            การให้สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานของผู้ใช้แรงงานกลุ่มที่หนึ่งในสถานบันเทิงที่เป็นลูกจ้างของสถานบันเทิงนั้นไม่ค่อยมีปัญหา เนื่องจากกฎหมายแรงงานไทยให้การรับรองและคุ้มครองผู้ใช้แรงงานที่เป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานอยู่แล้ว  แต่ผู้ใช้แรงงานกลุ่มที่สองนักร้อง นักดนตรี นักแสดง และนักเต้น ซึ่งเป็นผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างทำของนั้น  ไม่มีกฎหมายใดๆ ออกมารับรองคุ้มครองการใช้แรงงานของพวกเขาเลย  ทั้งที่ลักษณะการทำงานของพวกเขามีลักษณะคล้ายกับบรรดาลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน
หลักการของสัญญาต่างตอบแทนทั้งสองสัญญาดังกล่าวของผู้ใช้แรงงานทั้งสองกลุ่ม แม้ธรรมชาติของสัญญาจะต่างกัน แต่ลักษณะการทำงานนั้นคล้ายคลึงกันมาก หากไม่นำกฎหมายแรงงานมาบังคับใช้กับบุคคลทั้งสองกลุ่ม กรณีย่อมมีผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานกลุ่มที่สอง กล่าวคือ พวกเขามีลักษณะการที่งาน สถานที่ ช่วงเวลาและเป็นผู้ที่ใช้แรงงานแลกสินจ้างคล้ายกับผู้ใช้แรงงานกลุ่มที่หนึ่งซึ่งเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน แต่กลับไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานดังเช่นลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงาน ทั้งที่กฎหมายแรงงานเป็นกฎหมายพิเศษที่บัญญัติไว้เพื่อบังคับ ควบคุม คุ้มครอง และวางมาตรการส่งเสริมในเรื่องต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของผู้ใช้แรงงาน  กับผู้ประกอบการ แต่กฎหมายแรงงานกลับมีหลักเกณฑ์ให้ใช้บังคับได้เฉพาะสัญญาจ้างแรงงานเท่านั้น  
แม้ว่าเหตุผลที่ไม่สามารถใช้กฎหมายแรงงานกับสัญญาจ้างทำของได้คือ ผู้รับจ้างที่นักร้อง นักดนตรี นักแสดง และนักเต้นนั้น อาจมีผู้ว่าจ้างหลายคน และสัญญาจ้างทำของนั้นผู้รับจ้างไม่อยู่ภายใต้บังคับของนายจ้าง  และได้รับสินจ้างตามผลสำเร็จของงาน ซึ่งเป็นการยากที่จะบังคับใช้กฎหมายแรงงานกับสัญญานี้ก็ตาม   แต่การที่ผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างทำของที่มีลักษณะคล้ายกับสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าว ต้องเสี่ยงกับอันตรายจากการทำงาน และมีการใช้แรงกายในการทำงานเหมือนลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานทั่วไปนั้น กรณีย่อมถือว่ารัฐได้บังคับใช้กฎหมายโดยเลือกปฏิบัติ หรือมีการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน(Double Standard)    
ตัวอย่างของความไม่เป็นธรรมดังกล่าว เช่น มีการฟ้องร้องกันต่อศาลในประเด็นข้อพิพาทที่ว่า  “สัญญานั้น เป็นสัญญาจ้างแรงงาน หรือ สัญญาจ้างทำของ” กันอยู่เสมอ  ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริง  ที่มีความคาบเกี่ยวกันระหว่างสัญญาจ้างแรงงานกับสัญญาจ้างทำของ  หากศาลวินิจฉัยและมีคำพิพากษาว่าข้อเท็จจริงนั้นเป็นสัญญาจ้างทำของหรือเป็นประการอื่น  คู่สัญญาตามข้อเท็จจริงนั้นย่อมไม่สามารถได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน 
                ปัญหาผู้ใช้แรงงานที่เป็นผู้รับจ้างด้านการให้บริการบันเทิงไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน  จึงถือเป็นการบังคับใช้กฎหมายแรงงานที่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมและเป็นช่องว่างของกฎหมายที่ทำให้ผู้ประกอบการสถานบันเทิงสามารถหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานโดยการทำสัญญาจ้างทำของในลักษณะดังกล่าวข้างต้นได้  ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขก็จะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและความไม่เท่าเทียมกันในสังคม  โดยมีสาเหตุเพียงแค่ข้อกฎหมายบางประการเท่านั้น 
                ดังนั้น จึงสมควรที่จะทำการวิจัยค้นคว้าถึงสาเหตุ ปัญหาอุปสรรคจากตัวบทกฎหมายและข้อเท็จจริงในสังคม ที่ทำให้ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายแรงงานและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายแรงงานแก่ผู้ใช้แรงงานที่เป็นผู้รับจ้างด้านการให้บริการบันเทิงพร้อมทั้งหาแนวทางเสนอแนะเพื่อการแก้ไขปัญหาทางกฎหมายต่อไป
จากส่วนหนึ่งของงานวิจัย หัวข้อ การให้สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแก่ผู้ใช้แรงงานที่เป็นผู้รับจ้างด้านการให้บริการบันเทิงในเมืองพัทยา โดย วิไลพรรณ เจสะวะ (อยู่ระหว่างจัดทำ:UD 14/03/2554