วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2554

บทความ เรื่อง กฎหมายป้องกันการผูกขาดและกีดกันทางการค้า ศึกษากรณี : ข้อตกลงที่เป็นการจำกัดการแข่งขันในแนวดิ่ง ( COMPETITION LAW CASE STUDY ON : VERTICAL RESTRAINTS AGREEMENT )

โดย อาจารย์วิไลพรรณ  เจสะวะ  คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี
            ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีพื้นฐานอยู่ที่นายทุนภาคเอกชนจำนวนหนึ่งเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต  และทำการผลิตโดยจ้างแรงงานผู้รับจ้างหรือลูกจ้างผู้ใช้แรงงาน เพื่อการแสวงหากำไร ( มูลค่าส่วนเกิน ) โดยมีกลไกตลาดที่ทำให้เกิดการแข่งขันกันระหว่างผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าหรือบริการประเภทเดียวกัน และทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม การพาณิชย์ และการให้บริการอย่างมาก ซึ่งถือว่าเป็นพลังผลักดันให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้น และการผลิตขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ  นำไปสู่การกระจายตัวและการรวมศูนย์ทุนการผลิตขนาดใหญ่และการผูกขาด  โดยในการแข่งขันกันนั้น ผู้ประกอบการขนาดใหญ่มักจะเอาเปรียบผู้ประกอบการรายอื่นโดยวิธีการต่างๆ  ทำให้ตลาดไม่มีการแข่งขันอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใด ผู้ประกอบการที่มีอำนาจผูกขาด และสามารถใช้อำนาจผูกขาดในการแสวงหากำไรส่วนเกินได้ ย่อมทำให้หน่วยธุรกิจนั้นๆ ได้รับผลตอบแทนเกินกว่าที่ควรจะเป็น ผลที่ตามมาก็คือ ทำให้การกระจายรายได้ไม่มีความเท่าเทียมกัน หรือช่องว่างระหว่างรายได้ของคนจนกับคนรวยยิ่งห่างมากขึ้นเรื่อยนั่นเอง และทำให้การจัดสรรทรัพยากรขาดประสิทธิภาพด้วย
            การกระทำที่เป็นการกีดกันทางการค้าของผู้ประกอบการที่มีอำนาจผูกขาดในตลาดต่อผู้ประกอบการรายใหม่ หรือผู้ประกอบการอื่นๆ ประการหนึ่งได้แก่ กรณี ข้อตกลงที่เป็นการจำกัดการแข่งขันในแนวดิ่ง ” ( Vertical Restraints Agreement )

            ข้อตกลงที่เป็นการจำกัดการแข่งขันในแนวดิ่ง ( Vertical Restraint Agreement) เป็นรูปแบบของการร่วมมือกันของผู้ประกอบการในธุรกิจอย่างเดียวกัน แต่มีสถานะต่างกัน โดยสืบทอดต่อกันในกระบวนการของธุรกิจนั้น ( Stage of Production ) ร่วมกันก่อให้เกิดการจำกัดการแข่งขันทางธุรกิจ เช่น การรวมตัวกันในระหว่างผู้ผลิตกับผู้จำหน่าย การรวมตัวกันของพ่อค้าปลีกกับพ่อค้าส่งเป็นต้น ดังปรากฏในแผ่นภาพดังนี้



                             A 1               supplier                     A 2

                             B 1              manufacturer              B 2

                             C 1              distributor                  C 2

       1          2       3       4        consumers            1      2      3    4

ที่มา : ศิริพล  ยอดเมืองเจริญ ,การพัฒนาการป้องกันการผูกขาดทางธุรกิจเพื่อประสิทธิภาพกลไกทางการตลาดและเศรษฐกิจ หน้า  46

            ตามภาพผู้ผลิต B1 ตกลงกับผู้จำหน่าย C1 ในการกำหนดราคาขายปลีกไว้เพื่อรักษาราคาให้อยู่ในระดับพอเหมาะจะเห็นได้ว่า ผู้บริโภคเดือดร้อนและบางครั้งกีดกันคู่แข่งขัน B2 และ C2 ด้วย
            ข้อตกลงที่เป็นการจำกัดการแข่งขันในแนวดิ่งนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท  คือ
1.      เป็นข้อตกลงที่จำกัดในด้านการจำหน่ายสินค้า
2.      ข้อตกลงที่มีเพื่อกีดกันคู่แข่งให้ออกจากตลาดโดยเฉพาะ
             กล่าวโดยละเอียดคือ  ในกรณีที่ผู้ผลิตจะจำหน่ายสินค้าและบริการให้แก่ผู้บริโภคนั้น เขาอาจขายโดยตรงด้วยการขายผ่านพนักงานของตน หรือโดยอ้อม ด้วยการจำหน่ายผ่านตัวแทนจำหน่าย ได้แก่ ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากผู้ผลิตที่อยู่ในฐานะเป็นผู้ครองตลาด และต้องการรักษากำไรสูงสุดของตนไว้  ผู้ผลิตจะดำเนินนโยบายที่ก่อให้เกิดการจำกัดการจำหน่ายสินค้าโดยการกระทำดังต่อไปนี้
            1. การรักษาระดับราคาขายปลีก ( Resale Price Maintenance ) ซึ่งจะทำได้ต่อเมื่อสินค้านั้นไม่มีสินค้าอื่นทดแทน หรือสินค้าทดแทนมีราคาสูงกว่าสินค้าของผู้ผลิต รวมทั้งผู้ผลิตอยู่ในฐานะเป็นผู้ครองตลาด
            2. การทำสัญญาผูกมัด ( Tying Contract ) เป็นกรณีที่มีการตกลงระหว่างผู้ซื้อ หรือผู้เช่าสินค้าของผู้ผลิตซึ่งมักเป็นสินค้าที่ได้รับการจดสิทธิบัตร  โดยผู้ซื้อหรือผู้เช่าต้องซื้อสินค้าอื่นร่วมไปกับสินค้าที่ตนไม่ต้องการ หรือวัตถุดิบซึ่งสามารถซื้อได้จากแหล่งอื่นในราคาที่ถูกกว่าของผู้ผลิต  ซึ่งเรียกว่าเป็นสินค้าผูกมัดทำให้ผู้ซื้อมีภาระในการที่จะต้องชำระราคาเกินปกติ
            3. การทำข้อตกลงเฉพาะราย ( Exclusive Contract ) ได้แก่ ข้อตกลงในเรื่องต่อไปนี้
              3.1 ผู้ขายส่งสินค้าเสนอขายสินค้าต่อผู้ขายปลีก โดยกำหนดเงื่อนไขว่า ผู้ขายปลีกจะต้องไม่รับสินค้าจากคู่แข่งของผู้ขายส่ง มาขายด้วย
              3.2  ผู้ขายส่งสินค้าเสนอลดพิเศษให้แก่ผู้ขายปลีก โดยมีเงื่อนไขว่า ลูกค้ารายนั้นจะไม่ขายสินค้าต่อไปยังบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ตามที่ตกลงกันไว้ หรือในเขตท้องที่ใดท้องที่หนึ่ง ตามที่ตกลงกันไว้
              3.3   ผู้ขายส่งสินค้าปฏิเสธขายสินค้าแก่ผู้ขายปลีกของตนด้วยเหตุที่ว่า ผู้ขายปลีก
1.      ได้ซื้อ หรือไม่ยอมตกลงว่าจะไม่ซื้อสินค้าจากผู้แข่งขันของผู้ขายส่ง
2.   ได้ขายต่อ หรือไม่ยอมตกลงว่าจะไม่ขายต่อซึ่งสินค้าที่ซื้อจากผู้ขายส่งไปยังบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือไปที่ใดที่หนึ่ง
  3.4   ผู้ขายปลีกสินค้าตกลงรับซื้อ หรือจะรับซื้อจากผู้ขายส่ง โดยที่มีเงื่อนไขว่าผู้ขายส่งจะต้องไม่ขายสินค้าชนิดเดียวกันให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือที่ใดที่หนึ่ง
  3.5   ผู้ขายส่งตกลงขายสินค้า หรือให้ส่วนลดพิเศษแก่ผู้ขายปลีกของตน โดยกำหนดเงื่อนไขว่า ผู้ขายปลีกผู้นั้นจะต้องรับซื้อสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งจากผู้ขายด้วย
4. การกำหนดราคาโดยการเลือกปฏิบัติ ( Price Discrimination )   เป็นการกำหนดราคาโดยการเลือกปฏิบัติระหว่างผู้ซื้อต่างรายกันในสินค้าที่มีคุณภาพเหมือนกัน ซึ่งเป็นผลให้เกิดการจำกัดการแข่งขันทางการค้า
            ระบบกฎหมายป้องกันการผูกขาด  ในกรณีข้อตกลงที่เป็นการจำกัดการแข่งขันในแนวดิ่งของไทยนั้น  เป็นระบบ หลักการควบคุมพฤติกรรมที่ไม่ชอบ (Control of Abuse )
            ซึ่งกำหนดไว้ใน ...ป้องกันการผูกขาดและกีดกันทางการค้า พ..2542 มาตรา 27 กล่าวคือ  “ ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจใดร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจอื่นกระทำการใดๆ อันเป็นการผูกขาด หรือลดการแข่งขันหรือจำกัดการแข่งขันในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่ง หรือบริการใดบริการหนึ่งในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
                        1.  กำหนดราคาขายสินค้าหรือบริการเป็นราคาเดียวกัน  หรือตามที่ตกลงกัน หรือจำกัดปริมาณการขายสินค้าหรือบริการ
                        2.  กำหนดราคาซื้อสินค้าหรือบริการอย่างเดียวกัน หรือตามที่ตกลงกัน หรือจำกัดปริมาณการรับซื้อสินค้าหรือบริการ
                        3.  ทำความตกลงร่วมกันเพื่อเข้าครอบครองตลาดหรือควบคุมตลาด
                        4.  กำหนดข้อตกลงหรือเงื่อนไขในลักษณะสมรู้กัน เพื่อให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้รับการประมูลหรือประกวดราคาสินค้าหรือบริการ เพื่อมิให้ฝ่ายหนึ่งเข้าแข่งขันราคาใน การประมูลหรือการประกวดราคาสินค้าหรือบริการ
                        5.  กำหนดแบ่งท้องที่ที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจะจำหน่ายหรือลดการจำหน่ายสินค้าหรือบริการได้ในท้องถิ่นนั้น  หรือกำหนดลูกค้าที่ประกอบธุรกิจแต่ละรายจะจำหน่ายสินค้าหรือบริการได้โดยผู้ประกอบธุรกิจอื่นจะไม่จำหน่ายสินค้าหรือบริการนั้นแข่งขัน
                        6.  กำหนดแบ่งท้องที่ที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจะซื้อสินค้าหรือบริการได้  หรือกำหนดตัวผู้ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจจะซื้อสินค้าหรือบริการได้
                        7.  กำหนดปริมาณของสินค้าหรือบริการ ที่ผู้ประกอบการธุรกิจแต่ละราย จะผลิต ซื้อ จำหน่าย หรือบริการ เพื่อจำกัดปริมาณให้ต่ำกว่าความต้องการของตลาด
                        8.  ลดคุณภาพของสินค้า หรือบริการให้ต่ำลงกว่าที่เคยผลิต จำหน่าย หรือให้บริการ โดยจำหน่ายในราคาเดิมหรือสูงขึ้น
                        9.  แต่งตั้งมอบหมายให้บุคคลใดแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้จำหน่ายสินค้า หรือให้บริการอย่างเดียวกัน หรือประเภทเดียวกัน
                        10.  กำหนดเงื่อนไขหรือวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการซื้อ  หรือการจำหน่ายสินค้าหรือสินค้าหรือการบริการเพื่อให้เป็นแบบเดียวกันหรือตามที่ตกลงกัน
                        ในกรณีที่มีความจำเป็นทางธุรกิจที่ต้องกระทำตาม (5)(6)(7)(8)(9) หรือ (10) ในระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่ง  ให้ผู้ประกอบธุรกิจยื่นคำขออนุญาตต่อคณะกรรมการตามมาตรา 35 ”

            ผลที่เกิดขึ้นจากการป้องกันการผูกขาดและกีดกันทางการค้า  กรณีข้อตกลงที่เป็นการจำกัดการแข่งขันในแนวดิ่ง
                        ผลดี 
                        1. มีการตัดราคากันเองในระหว่างผู้จัดจำหน่ายในระดับต่างๆ ในสินค้าชนิดเดียวกัน ทำให้เกิดผลดีคือ ราคาสินค้าถูกลงประชาชนผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากการที่สินค้าราคาถูกลง
                        2. ไม่มีการตกลงไม่แข่งขันกันเกิดขึ้น ทำให้ต้องพัฒนาเทคโนโลยีของตนอยู่ตลอดเวลา ทำให้สินค้าหรือบริการมีคุณภาพมากขึ้น
                        3. ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ขายปลีกมีความเป็นอิสระในการตั้งเงื่อนไขการขาย หรือให้บริการต่างๆได้เอง ซึ่งจะเป็นผลทำให้เกิดราคาขายหรือบริการที่เหมาะสมตามภาวะตลาด และความต้องการของลูกค้า
                        4. ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้าและบริการมากขึ้นเพราะ ผู้ประกอบการที่เป็นผู้จำหน่ายปลีก ไม่อยู่ภายใต้บังคับของผู้ผลิตสินค้า
                     ผลเสีย
                        1.  ทำให้ต้นทุนการโฆษณาของผู้ผลิตแต่ละรายเพิ่มขึ้น  เมื่อเกิดการแข่งขึ้นกันอย่างสมบูรณ์
                        2.   ราคาสินค้าในตลาดไม่มีเสถียรภาพ เนื่องจากสินค้าและบริการ เพิ่มขึ้นลดลงอยู่ตลอดเวลา ตามเงื่อนไขของกลไกตลาด
                        3.   เมื่อไม่มีการตกลงใด อาจมีการกำหนดราคาสินค้าเองได้อย่างเสรี ซึ่งอาจแพงเกินไปได้  หากท้องที่ที่ขายไม่มีคู่แข่งขันเลย

บทสรุปและข้อเสนอแนะ
1.บทสรุป
            จากการศึกษาเรื่อการป้องกันการผูกขาดและกีดกันทางการค้า กรณีข้อตกลงที่เป็นการจำกัดการแข่งขันในแนวดิ่งนั้น ก็ทำให้ทราบว่า  แม้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมจะเป็นระบบที่เชื่อกันว่าดีที่สุด เพราะราคาสินค้าและบริการจะถูกควบคุมโดยกลไกของตลาดโดยอัตโนมัติ  แต่ในความเสรีนี่เองเป็นต้นเหตุของการที่ผู้ประกอบการที่มีกำลังการผลิตเหนือคนอื่น ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยหลายประการ  มาทำการผูกขาดทางการค้าและจำกัดการแข่งขันผู้ประกอบการรายอื่นซึ่งยังใหม่ หรือมีกำลังการผลิตน้อยกว่า   
            ดังนั้น  การที่มีกฎหมายป้องกันการผูกขาดและกีดกันทางการค้าขึ้นมา   เพื่อควบคุมพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นความสมควรอย่างยิ่งแล้ว   เพราะเป็นกฎหมายที่สร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม เนื่องจากหากไม่มีการควบคุมดังกล่าว   การค้าเสรีก็จะกลายเป็นการผูกขาดโดยผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาดแน่นอน  และผลที่ตามมาก็คือช่องว่างระหว่างรายได้ในสังคมก็จะห่างมากขึ้นเรื่อยๆ  คนรวยก็จะรวยมากคนจนก็จะถูกเอาเปรียบและจนไปเรื่อยๆ    ซึ่งถือว่าไม่เป็นการทำให้ประเทศชาติเกิดการพัฒนาเลย  แม้ว่าความพัฒนาที่เกิดขึ้นจากการค้าเสรีสูงสุดจะทำให้ประเทศมีรายได้ประชาชาติสูงขึ้น  แต่ก็ถือว่าเป็นการพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น      และรายได้ที่นำมาคำนวณแล้วทำให้ได้ตัวเลขสูงๆดังกล่าว   ก็เป็นการคิดจากรายได้ผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการที่ร่ำรวยเท่านั้น  คนจนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศก็ยังยากจนอยู่เหมือนเดิม  
            การมีกฎหมายป้องกันการผูกขาดและการกีดกันทางการค้านี้ จึงเป็นกฎหมายที่ทำให้ประเทศชาติพัฒนาได้  กล่าวคือเป็นกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่เริ่มต้นทำธุรกิจรายอื่น  ที่ยังมีกำลังน้อยอยู่ได้มีโอกาสเข้ามาแข่งขันในระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ ทำให้รายได้การการผลิตดังกล่าว   ได้กระจายไปสู่ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ  ซึ่งอาจจะเป็นในรูปของผู้ใช้แรงงาน หรือผู้บริโภคที่ได้รับประโยชน์จากการแข่งขันที่แท้จริง เป็นต้น คุณภาพชีวิตของประชาชนก็จะดีขึ้น   ไม่ใช่มีแต่เพียงความพัฒนาที่เป็นเชิงปริมาณเหมือนในอดีตที่ผ่านมา  และเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น  จากการมีกฎมายป้องกันการผูกขาดฯ ดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว แม้จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ใช้กฎหมายให้เกิดการพัฒนา  แต่ก็ถือว่ากฎหมายฉบับนี้  เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศชาติเกิดการพัฒนาที่แท้จริงและยั่งยืนได้
2.  ข้อเสนอแนะ
            เนื่องจากเนื้อหาโดยรวม ของกฎหมายป้องกันการผูกขาดเป็นกฎหมายที่มีประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ และการพัฒนาของประเทศดีแล้ว จึงมีความเห็นว่า                           พระราชบัญญัติป้องการผูกขาดและกีดกันทางการค้า พ.. 2542 นี้    เป็นกฎหมายที่ดีแล้ว  แต่ก็ยังมีข้อบกพร่องอยู่บางประการ  จึงมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกฎหมายฉบับนี้ดังต่อไปนี้คือ
            1.  กฎหมายฉบับนี้ยังมีเนื้อความของบทบัญญัติอยู่หลายจุด  ที่ไม่ชัดเจนในความหมาย ทำให้ต้องมีการตีความอยู่เสมอ ประกอบกับลักษณะของการประกอบธุรกิจนั้นมีอยู่มากมาย  ยากที่จะปรับตัวบทกฎหมายกับข้อเท็จจริงได้ เช่นการตีความคำว่า อำนาจเหนือตลาด กับข้อเท็จจริงต่างๆที่เกิดขึ้น  เป็นการลำบากในการตีความของผู้ใช้กฎหมายที่ไม่อาจมีความรู้ในทางเศรษฐกิจหรือการค้าทุกคนได้  ดังนั้นจึงเห็นว่าควรมีการระบุถึงหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่จะเป็นปัญหาให้ต้องตีความบ่อย โดยระบุไว้ในตัวพระราชบัญญัติ  เพราะประชาชนทั่วไปจะได้รู้และเข้าถึงข้อห้ามต่าง ๆ
            2.  การดำเนินทางกฎหมายต่อผู้กระทำผิดในทางอาญา น่าจะเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายที่เป็นเอกชนสามารถฟ้องเองได้โดยการปรึกษาคณะกรรมการการแข่งขัน  เนื่องจากการที่ให้การดำเนินการทางอาญาโดยผ่านคณะกรรมการการแข่งขันฝ่ายเดียวอาจมีความล่าช้า และเป็นผลให้เรียกค่าเสียหายได้ช้าด้วย ทำให้ผู้กระทำผิด  ไม่ค่อยเกรงกลัวกฎหมาย


บรรณานุกรม

ไกรยุทร  ธีรตยาคีนันท์. ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการแทรกแซงของรัฐ . กรุงเทพ :
                        ไทยวัฒนาพาณิชย์ , 2525
ไชยยศ เหมะรัชตะ. รายงานการวิจัยเรื่องการกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด.
                        เอกสารโรเนียว ,2534
ณรงค์  เพชรประเสริฐ. กลุ่มทุนนิยมผูกขาดในประเทศไทย . กรุงเทพ : สำนักพิมพ์
                        ปุถุชน , 2524
ภูมิ  โชคเหมาะ.กฎหมายเศรษฐกิจ.เอกสารประกอบการบรรยายวิชากฎหมายเศรษฐกิจ
                        ในชั้นปริญญาโทม.รามคำแหง,ไม่ปรากฎปีที่พิมพ์
ศิริพล  ยอดเมืองเจริญ. การพัฒนาการป้องกันการผูกขาดทางธุรกิจเพื่อประสิทธิภาพ
                        กลไลการตลาดและเศรษฐกิจ . เอกสารโรเนียว, 2535.
 (เผยแพร่ในวารสารรพีรำลึกของ คณะนิติศาสตร์ฯ ปี 2550)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น