วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554

การขยายความคุ้มครองกรณีเจ็บป่วยและประสบอันตรายตามกฎหมายประกันสังคมให้แก่สมาชิกในครอบครัวของผู้ประกันตน

ผู้คนที่อยู่ในวัยทำงาน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในฐานะลูกจ้างที่มีรายได้ต่อเดือนอันจำกัดนั้น ย่อมต้องการที่จะมีความมั่นคงในการดำรงชีวิต แต่ที่มากไปกว่านั้นก็คือ ความต้องการที่จะให้บุคคลที่อยู่ในครอบครัวเดียวกับเขา ได้มีความมั่นคงในการดำรงชีวิตเช่นเดียวกับเขาด้วย
จากความต้องการดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องจากบรรดาลูกจ้างในสังคมไทย ทำให้ภาครัฐได้ตระหนักถึงความสำคัญและได้ออกกฎหมายขึ้นมาฉบับหนึ่งในปี พ.ศ.  2533 คือ พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.. 2533 และต่อมาก็มีการแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2  ในปี พ..2537 และฉบับที่  3 และในปี พ.ศ. 2542  กฎหมายประกันสังคมฉบับนี้ เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการสร้างหลักประกันและความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้แก่ลูกจ้าง  ผู้สมัครเข้าประกันตน รัฐบาล และนายจ้าง  ได้เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข  ร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการออมและเสียสละเพื่อส่วนรวม มีหลักการสำคัญที่มุ่งให้ประชาชนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  ช่วยเหลือตัวเองและครอบครัว ในยามที่ไม่สามารถทำงานได้โดยไม่เป็นภาระให้แก่ผู้อื่นและสังคม   การประกันสังคมจึงเป็นมาตรการหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดความมั่นคงในชีวิต โดยมีการจัดตั้งกองทุนประกันสังคมขึ้น เพื่อให้ความคุ้มครองผู้ประกันตน กรณี  โดยไม่คำนึงถึงว่าลูกจ้างจะเจ็บป่วย ประสบอันตราย หรือเสียชีวิตเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง  การคุ้มครอง ทั้ง 7 กรณี คือ
(1) ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
                                                (2) ประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร
                                                (3) ประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพ
                                                (4) ประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย
                                                (5) ประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร
                                                (6) ประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
                                                (7) ประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน
โดยทั้ง 7 กรณีนี้ได้มีการบังคับใช้ครบทุกข้อแล้ว โดยลูกจ้างต้องส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมทั้ง 7 กรณีตามอัตราส่วนที่ภาครัฐกำหนด
แต่เนื่องจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ลูกจ้างผู้ประกันตนนั้นมิได้ต้องการที่จะมีความมั่นคงลำพังเพียงคนเดียวเท่านั้น  หากแต่เขายังต้องการที่จะให้คนในครอบครัวของเขาอันได้แก่ บิดา มารดา ภรรยา และบุตรอันชอบด้วยกฎหมายของเขา ได้รับความมั่นคงในการดำรงชีวิตโดยเฉพาะในด้านสุขภาพร่างกายเช่นเดียวกับเขาด้วย  โดยกรณีที่ควรจะขยายการคุ้มครองแก่คนในครอบครัวของลูกจ้างมากที่สุด และมีความเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ สิทธิประโยชน์ในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย  เพราะการเจ็บป่วยของคนในครอบครัวนั้น ตามความเป็นจริง  ลูกจ้างจะต้องร่วมรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลด้วยอยู่แล้ว ส่วนนโยบายรัฐบาลเรื่องโครงการหลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น แม้จะมีข้อดีมากมาย ก็มีข้อเสียหลายประการเช่น สามารถเข้ารับการรักษาได้เฉพาะโรงพยาบาลที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ไม่สามารถที่จะเข้าการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้ หรืออีกประการเช่น การทำงานของแพทย์ พยาบาลตามโครงการนี้ ก็ทำงานหนักมากเกินไป ทำให้บางครั้งความสามารถในการดูแลรักษาคนไข้ก็เป็นไปอย่างมีข้อจำกัด เช่นการผ่าตัดเพื่อรักษาโรค ต้องต่อคิวเป็นเวลานาน  ดังนั้น เพื่อสนองความต้องการพื้นฐานนี้ ภาครัฐควรที่จะขยายหลักการของกฎหมายประกันสังคมกรณีดังกล่าวนี้  เพื่อให้ครอบคลุมถึงบิดา มารดา ภรรยา และบุตรอันชอบด้วยกฎหมายของลูกจ้างด้วย ดังเช่นสิทธิที่ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจได้รับ  
การขยายความคุ้มครองกรณีเจ็บป่วยและประสบอันตรายตามกฎหมายประกันสังคม ให้แก่สมาชิกในครอบครัวของผู้ประกันตนนั้น ภาครัฐอาจทำได้โดยการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย  เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกจ้างที่ต้องการให้กฎหมายประกันสังคมคุ้มครองครอบครัวของตน ได้ร่วมจ่ายเงินประกันสังคมในส่วนนี้ด้วยความสมัครใจ  ซึ่งอาจจะกำหนดให้ลูกจ้างจ่ายเงินประกันสังคมเพิ่มจากปกติอีกร้อยละ 50 ของเงินที่ต้องส่งให้กองทุนประกันสังคม เฉพาะในกรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย  และคูณด้วยจำนวนคนที่ลูกจ้างต้องการให้คุ้มครอง และกำหนดสิทธิประโยชน์เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายเช่นเดียวกับลูกจ้างทุกประการ เพื่อให้กฎหมายประกันสังคมได้สร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตของลูกจ้างทุกคนอย่างแท้จริงต่อไป

*****************************************************
โดย วิไลพรรณ เจสะวะ (เผยพร่ในวารสารรพีรำลึกของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี ประจำปี 2548)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น